เมื่อวันที่ 9 พ.ค.65 นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ประชุมร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตัวแทนเกษตรกร เพื่อชี้แจงกิจกรรมการจัดทำคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สินค้า “มังคุดทิพย์พังงา” ณ ห้องประชุมดีบุก ศาลากลางจังหวัดพังงา โดยที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย สินค้า “มังคุดทิพย์พังงา” การกำหนดข้อมูลจัดทำคำขอ และคำขอสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อน “มังคุดทิพย์พังงา” ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications) หรือ GI อีกหนึ่งชนิดถัดจากข้าวไร่ดอกข่าและทุเรียนสาลิกา ยกระดับชื่อเสียงมังคุดจังหวัดพังงาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สร้างโอกาสจำหน่ายสินค้าเกษตร ให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสบริโภคสินค้าจากท้องถิ่นที่มีคุณภาพ เป็นของดี ของหายาก เพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดเพิ่มขึ้น มังคุดทิพย์พังงา เป็นมังคุดสายพันธุ์พื้นเมือง มีรสชาติหวานอมเปรี้ยวเฉพาะตัว เมื่อปี พ.ศ. 2547 ชาวจังหวัดพังงาได้นำมังคุดถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระอิสริยยศในขณะนั้น ครั้นเมื่อทรงเสวยแล้วเป็นที่ถูกพระทัย ด้วยคุณลักษณะเด่น คือ รสชาติหวานอมเปรี้ยว ผิวสีน้ำตาลอมแดง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ตั้งชื่อมังคุดพังงาว่า “ทิพย์พังงา” หมายถึง ผลไม้ที่เป็นของเทวดา มีรสเลิศจากจังหวัดพังงา จึงได้เรียกมังคุดสายพันธุ์นี้ว่า “ทิพย์พังงา” มาจนถึงปัจจุบันทั้งนี้ ผลผลิตมังคุดทิพย์พังงากำลังจะออกสู่ท้องตลาดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนสิงหาคม โดยทำการรวบรวมมาจากทุกสวนในพื้นที่อำเภอกะปง และนำมาจำหน่ายที่สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดพังงาเพียงจุดเดียวในวันที่ 15 พฤษภาคม เพื่อคัดคุณภาพของมังคุดทุกผลก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค